GPSC – INSEE Ecocycle ลงนามความร่วมมือศึกษาแผนจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF และโรงงานรีไซเคิลขยะจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ รองรับปริมาณขยะแผงโซลาร์-แบตเตอรี่ที่จะทยอยหมดอายุในอนาคตจำนวนมาก ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์จากซากขยะสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามหลัก Circular Economy พัฒนาพลังงานไทยอย่างยั่งยืนสู่ Net Zero ของประเทศในปี 2065
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ (11 พฤศจิกายน) GPSC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด (INSEE Ecocycle) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) และโครงการรีไซเคิลขยะประเภทแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งแบตเตอรี่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการลงทุนระหว่างสองฝ่ายในอนาคต ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2568
“ทั้งสองฝ่ายจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาเทคโนโลยีในการดำเนินการโรงคัดแยกขยะเชื้อเพลิง RDF รวมทั้งแนวทางและแผนการขยายผลไปถึงโอกาสในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นในอนาคตหากประเมินแล้วมีความคุ้มค่าในการลงทุน ส่วนโครงการรีไซเคิลขยะประเภทแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะเกิดของเสียจากแผงที่หมดอายุที่มีปริมาณสูง และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมองค์ความรู้เพื่อการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุอย่างเหมาะสม และเพื่อเป็นประโยชน์ในภาพรวมแก่ประเทศ” นางรสยากล่าว
นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นสนับสนุนพันธมิตรในการบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการพัฒนาแนวทางและโซลูชันใหม่ๆ เพื่อยกระดับตามลำดับขั้นการจัดการของเสีย สู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วนตามนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งแผงโซลาร์ฯ เฉลี่ยจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการขยะจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงแบตเตอรี่ เพื่อนำขยะที่มีค่าสู่กระบวนการรีไซเคิล และผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องศึกษารูปแบบวิธีการบริหารจัดการด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิล และผลิตเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถสร้างมูลค่า เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายในแผนการศึกษาทั้งสองโครงการ จะมีการนำความเชี่ยวชาญของบุคลากรแต่ละด้านของระบบการบริหารจัดการขยะมาร่วมดำเนินการ โดย GPSC มีความพร้อมในการจัดทำระบบและเทคนิคการรีไซเคิล การใช้เทคโนโลยีในการนำโลหะมีค่าจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ รวมถึงขยะที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปัญหาด้านมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกลยุทธ์องค์กรในการมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2060
“นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อสร้าง Ecosystem ในการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้สอดรับกับทิศทางของโลกที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยพลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อนในทุกกระบวนการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย และยังสอดรับกับบริบทของการพัฒนาประเทศด้านพลังงานสะอาดของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยืนอีกด้วย” นางรสยากล่าว